วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ทรัพยากรป่าไม้กับการลดปัญหาโลกร้อน

      ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Effect) หรือที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (global warming) เกิดจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เป็นต้น ลอยขึ้นไปรวมตัวกันอยู่บนชั้นบรรยากาศของโลกเสมือนแผ่นกระจกในเรือนเพาะชำ ทำให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไปในปริมาณที่เหมาะสม กลับถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กักเก็บไว้ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนโลกค่อยๆ สูงขึ้นจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นอากาศบริเวณใกล้ผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 0.74 องศาเซลเซียส และจากแบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศพบว่าในปี พ.ศ. 2544–2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.1-6.4 องศาเซลเซียส 
      สาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนมากกว่าร้อยละ 75 เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล (Fossil Fuels) เช่น ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น รองลงมาคือ การสูญเสียคาร์บอนจากการทำลายป่าในเขตร้อนเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จากรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พบว่า ในปี พ.ศ 2543 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เท่ากับ 229.08 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) เกิดจากกิจกรรมในภาคพลังงานมากที่สุดถึงร้อยละ 69.57 ในขณะที่ภาคป่าไม้มีการดูดซับมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ถึงร้อยละ 3.44 เนื่องจากพื้นที่ป่าปลูกเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการทำลายป่า 

      จะเห็นได้ว่า ต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นในป่าธรรมชาติ สวนป่า สวนสาธารณะ หรือริมถนน มีบทบาทสำคัญในการช่วยกักเก็บคาร์บอน เริ่มจากต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศนำมาสร้างสารอินทรีย์ซึ่งมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบและนำมากักเก็บไว้ในส่วนต่างๆ ได้แก่ ลำต้น กิ่ง และใบ และ ราก คนจำนวนมากจึงเห็นถึงความสำคัญของป่าไม้และการปลูกป่า ในเวทีระดับโลกได้ให้ความสำคัญกับการลดการทำลายป่าซึ่งมักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อน เนื่องจากความต้องการพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และหลายพื้นที่ตัดไม้จนเกินกำลังผลิตของป่าเป็นสาเหตุให้ป่าเกิดความเสื่อมโทรม จึงมีกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (Reducing Emissions from Deforestation and Degradation in Developing Countries) หรือที่รู้จักกันดีว่า REDD หรือ REDD plus จัดเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจทางบวกโดยการให้ค่าตอบแทนหรือเงินชดเชยแก่ประเทศที่สามารถลดอัตราการทำลายป่า หรือสามารถอนุรักษ์พื้นที่ป่าธรรมชาติไม่ให้ลดลงหรือเสื่อมโทรมลง ประเทศไทยเราเองก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในด้านเทคนิค วิชาการ นโยบายการดำเนินงาน โครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่อาศัยอยู่รอบแนวเขตป่าเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว 

      นอกจากนี้การปลูกป่าก็เป็นกิจกรรมหนึ่งในเวทีโลกที่ได้มีการกำหนดให้สามารถดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานของความสมัครใจภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) ของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ “CDM” ซึ่งเป็นกิจกรรมการปลูกป่าในพื้นที่ที่เคยเป็นป่าและไม่เคยเป็นป่ามาก่อนก็ได้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาพรรณไม้ที่มีศักยภาพสำหรับปลูก ภายใต้โครงการ CDM พบว่า การปลูกสวนป่าไม้สัก รอบตัดฟันประมาณ 30 ปี สามารถดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.36-2.16 ตันต่อไร่ต่อปี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก เมื่อตัดฟันแล้วนำไม้สักจากสวนป่าไปใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้อื่นๆ ที่มีอายุยืนนานไม้สักเหล่านั้นก็ยังคงสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ตลอดอายุการใช้งาน และเมื่อทำการปลูกใหม่สวนสักที่ปลูกใหม่เหล่านั้นก็ยังคงดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ต่อไป ในขณะที่ไม้โตเร็ว เช่น กระถินเทพา กระถินเทพ และยูคาลิปตัส เป็นต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดมากกว่า 6 ตันต่อไร่ต่อปี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก สำหรับศักยภาพในการดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการปลูกพรรณไม้ต่างๆ สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก คู่มือศักยภาพของพรรณไม้สำหรับส่งเสริมภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดภาคป่าไม้จัดพิมพ์โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลูกป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอนในตลาดภาคสมัครใจ เป็นการดำเนินงานที่อยู่นอกกรอบพิธีสารเกียวโต มีกฎเกณฑ์เข้มงวดน้อยกว่าการดำเนินงานภายใต้พิธีสารเกียวโตจึงสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ในประเทศไทยเองก็มีกิจกรรมหลายรูปแบบ ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ รูปแบบกิจกรรม ที่สำคัญ เช่น ธนาคารต้นไม้ ป่าชุมชน การปลูกป่าในระบบวนเกษตร การปลูกและฟื้นฟูป่า ของภาคเอกชนในรูปแบบ CSR หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม เป็นต้น

ตารางที่ 1 ศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการปลูกพรรณไม้ต่างๆ 
ชนิด/กลุ่มพรรณไม้
ระยะปลูก/ความหนาแน่น
การดูดซับก๊าซ
คาร์บอนไดออกไซด์
(ตัน/ไร่/ปี)
สัก
ระยะปลูก 4 x 4 เมตร 100 ต้น/ไร่
1.36-2.16
ยูคาลิปตัส
ระยะปลูก 2 x 3 เมตร 267 ต้น/ไร่
3.15-6.09
กระถินเทพา
ระยะปลูก 3 x 3 เมตร 178 ต้น/ไร่
4.00-6.09
กระถินณรงค์
ระยะปลูก 3 x 3 เมตร 178 ต้น/ไร่
2.27-4.40
กระถินยักษ์
ระยะปลูก 2 x 3 เมตร 267 ต้น/ไร่
0.77-6.49
โกงกาง
ระยะปลูก 1.5 x 1.5 เมตร 711 ต้น/ไร่
2.75
ยางพารา
ระยะปลูก 3 x 6 เมตร 144 ต้น/ไร่
4.22
ปาล์มน้ำมัน
ระยะปลูก 3 x 6 เมตร 144 ต้น/ไร่
2.49
พรรณไม้พื้นเมืองโตช้า
ไม่น้อยกว่า 100 ต้น/ไร่
0.95
พรรณไม้อเนกประสงค์
ไม่น้อยกว่า 100 ต้น/ไร่
1.47
พรรณไม้ปลูกในเมือง
ไม่น้อยกว่า 50 ต้น/ไร่
1.21


ประโยชน์ของต้นไม้ มีดังนี้
1.ต้นไม้จะ ช่วยคายออกซิเจนในช่วงกลางวัน ทำให้เราได้อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งการได้สูดอากาศบริสุทธิ์ มีผลดีต่อสุขภาพ ของเรา
2. ช่วยดูดซับก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
3. เป็นร่มเงา บังแสงแดด ให้เกิดความร่มรื่น
4. เป็นที่อยู่ อาศัยของสัตว์ป่า
5. พืช ผล สามารถนำมารับประทานเป็นอาหาร หรือ ยารักษาโรคได้
6. เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธาร เนื่องจากที่บริเวณราก ที่ดูดซับน้ำ และ แร่ธาตุ เป็นการกัก เก็บน้ำไว้บริเวณผิวดิน
7. บริเวณรากของต้นไม้ ที่ยึดผิวดิน ทำให้เกิดความแข็งแรงของบริเวณผิวดินป้องกันการพัง ทลายจากดินถล่ม เนื่องจากมีรากเป็นส่วนยึดผิวดินอยู่ ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด คือ การสาธิต การนำหญ้าแฝกมาประยุกต์ ป้องกันการพังทลาย ของหน้าดิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระปรีชา สามารถของพระมหากษัตริย์ ประเทศของเรา
8. เป็นแนวป้องกัน การเกิดน้ำท่วม เนื่องจาก เมื่อเกิดสภาพที่น้ำเกินสมดุล ท่วมลงมาจากยอดเขา จะมีแนวป่า ต้นไม้ ช่วยชะลอความแรง จากเหตุการณ์น้ำท่วม
9. ลำต้น สามารถ นำมาแปรรูปทำประโยชน์ ต่างๆ เช่น บ้านเรือน ที่พักอาศัย สะพาน เฟอร์นิเจอร์ เรือ
10. การปลูกต้นไม้ เป็นการผ่อนคลายความเครียดได้อย่างนึง
11. เมื่อเจริญ สามารถนำไปขายได้ราคา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก
12 ต้นไม้ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญต่อบรรดาสัตว์ป่า เป็นส่วนนึงในระบบนิเวศวิทยา

ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/1403
        http://nru.ku.ac.th/KU_NRU_/?c=page&rpind42&pind=313&rind=42


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น