วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล

แนวทางการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล
ในอดีตการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรปะการังและป่าชายเลน ได้รับความสนใจมาก แต่ในเรื่องของหญ้าทะเลยังได้รับความสนใจน้อย อาจเป็นเพราะนักวิจัยด้านทรัพยากรหญ้าทะเลในประเทศไทยขาดแคลน ทำให้มีข้อมูลพื้นฐานอยู่น้อย แม้จะได้มีการศึกษาเรื่องหญ้าทะเลอยู่บ้างก็ตาม ภายใต้โครงการ ASEAN-Australia: LCR ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ต่อมาโครงการ UNEP GEF Project ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นโครงการในระดับภูมิภาคทะเลเอเชียตะวันออก ดำเนินการโดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อจัดทำโปรแกรมยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งของภูมิภาคและสนับสนุนให้มีการประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพการจัดการแบบบูรณาการในกลุ่มประเทศประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีประเด็นทรัพยากรหลัก ดังนี้ ป่าชายเลน ปะการัง หญ้าทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำ มลพิษจากแผ่นดิน และประมง ในโครงการดังกล่าวได้สรุปสถานภาพของทรัพยากรต่างๆ รวมถึงปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น และได้มีการเสนอพื้นที่สาธิตเพื่อการทดลองร่วมกันบริหารจัดการแบบบูรณาการ ในช่วงแรกของการดำเนินโครงการด้านหญ้าทะเลก็ได้มีการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมถึงองค์กรเอกชน กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ และหน่วยงานราชการ ในการให้และรวบรวมข้อมูลในระดับหนึ่ง เฉพาะพื้นที่ในอ่าวไทย เพื่อกำหนดร่างแผนการจัดการแหล่งหญ้าทะเลระดับชาติต่อไปเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตามในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2534 ทางฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะบริเวณหาดเจ้าไหม เกาะตะลิบง จังหวัดตรัง และบริเวณบ้านป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต ได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์หญ้าทะเลขึ้นโดยองค์กรเอกชน กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ และหน่วยงานราชการของจังหวัด ได้ร่วมมือกันป้องกัน ดูแล มิให้มีการทำลายหญ้าทะเลจากเครื่องมือประมง แต่การเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลบางแห่ง มีสาเหตุที่เกิดจากตะกอนในทะเลยังไม่สามารถที่จะหามาตรการมาหยุดยั้งได้ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาหาข้อมูลเพื่อวางแผนต่อไปในอนาคต
ทั่วโลกมีการตื่นตัวในการอนุรักษ์และจัดการแหล่งหญ้าทะเล โดยมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ เครือข่ายระหว่างประเทศในการเฝ้าระวังติดตามผล ตรวจสอบสถานภาพของหญ้าทะเล เช่น Seagrass Net (www.seagrassnet.org) Seagrass watch (www.seagrasswatch.org) ส่วนประเทศไทยเริ่มมีการอบรมสมาชิก เรื่อง การเฝ้าระวังหญ้าทะเลโดยการจัดการของภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ที่จังหวัดตรัง และในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มหาวิทยายาลัยมหิดลและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เป็นแกนนำในการจัดทำแผนแม่บทหญ้าทะเลแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้แผนแม่บทหญ้าทะเลฝั่งอ่าวไทยได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ ควรได้รับการพิจารณาให้มีการอนุรักษ์ ได้แก่ แหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรังทั้งหมด แหล่งหญ้าทะเลบริเวณอ่าวพังงาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และพังงา(บ้านป่าคลอก) บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี เกาะกระดาด และเกาะหมาก จังหวัดตราด เกาะสมุย และเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี แหล่งหญ้าทะเลดังกล่าวควรได้รับการคุ้มครองให้มีการอนุรักษ์ รวมถึงมีการจัดการพื้นที่แนวหญ้าทะเลโดย
1. ตรวจสอบสถานภาพแนวหญ้าทะเลและติดตามการเปลี่ยนแปลงของแนวหญ้าทะเลในแต่ละ พื้นที่ตั้งแต่อดีตไปจนถึงคาดการณ์ทิศทางที่เป็นไปได้ไปในอนาคต ได้แก่ การจัดทำแผนที่แสดงแนวหญ้าทะเลโดยดำเนินการสำรวจแหล่งหญ้าทะเลในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรในแนวหญ้าทะเล
2. จัดทำนโยบายและแผนแม่บท โดยการสนับสนุนให้มีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชนซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ใช้ประโยชน์ในแหล่งหญ้าทะเล
3. สร้างจิตสำนึกเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการดูแล ปกป้องมิให้แนวหญ้าทะเลเสื่อมโทรม และมีการตื่นตัวในการอนุรักษ์หญ้าทะเล
4. กำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากตะกอนชายฝั่งเนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งมีการขยายตัวมากขึ้น และจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือ สะพานที่จอดเรือ บริเวณแหล่งหญ้าทะเล
5. กำหนดกรอบการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ต่อประชาชน
6. กำหนดมาตรการคุ้มครองอย่างเข้มงวดในพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลนอกเขตอุทยานทางทะเล ประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนที่มีผลกระทบตามชายฝั่ง
7. ห้ามทำการประมง โดยเฉพาะเครื่องมือประมง ที่ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม เช่น อวนลากอวนรุน อวนทับตลิ่งขนาดใหญ่ สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือขนาดเล็ก เช่น อวนลอยลอบ(ยกเว้นลอบปูที่ต่อเป็นราวจำนวนมาก) แห เบ็ด
8. หามาตรการที่จะควบคุม และป้องกัน ผลกระทบที่เกิดจากตะกอนชายฝั่ง การขุดเปิดหน้าดินบนที่สูงชายฝั่ง การทำเหมืองแร่ในทะเล การขุดลอกปากแม่น้ำที่มีแนวหญ้าทะเลอยู่ใกล้เคียงและการพัฒนาชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ
9. ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจัดทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ชาวประมง หรือผู้ที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งทะเล รวมถึงเจ้าหน้าที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ให้ทราบถึงประโยชน์ ความสำคัญของระบบนิเวศหญ้าทะเล
10. จัดให้มีการสัมนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์หญ้าทะเล ให้แก่ชาวประมงขนาดเล็ก และชาวประมงขนาดกลาง ที่อาศัยทำการประมง ในบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีหญ้าทะเล
11. จัดทำแผนแม่บทการจัดการหญ้าทะเลแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการของหน่วยงานราชการและชุมชนต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมของการอนุรักษ์หญ้าทะเลของประเทศไทย 
การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล
แนวทางการฟื้นฟูแนวหญ้าทะเลก็มีความสำคัญซึ่งควรดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ปัจจุบันมีการย้ายปลูกหญ้าทะเลทั้งในพื้นที่เดิมที่เสื่อมโทรมและในพื้นที่ใหม่ ที่ไม่เคยมีหญ้าทะเล การย้ายปลูก คือวิธีการที่ใช้ในการย้ายหญ้าทะเลไปปลูกในบริเวณที่เคยมีหญ้าทะเลปรากฏมาก่อน แต่ได้สูญหายไป เนื่องจากผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ หรือธรรมชาติ หรือการปลูกหญ้าทะเลขึ้นใหม่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม วิธีการที่ใช้ในการปลูกหญ้าทะเลมีหลายลักษณะ ได้แก่ 
1. การปลูกย้ายหญ้าทะเล  การปลูกย้ายหญ้าทะเลในพื้นที่ที่ต้องการ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 
1.1 วิธีการที่ปราศจากวัสดุที่ช่วยในการยึดหน้าดิน
      – การถอนต้นหญ้าทะเลจากแหล่งเดิม นำมาล้างเอาส่วนของดินออก แล้วนำไปปลูกในแหล่งใหม่ วิธีนี้มักใช้กันในช่วงเริ่มแรกที่มีการย้ายปลูกหญ้าทะเล
      - การขุดเอาต้นหญ้าทะเลและตะกอนดินจากแหล่งเดิม แล้วนำไปปลูกในแหล่งใหม่ มีรายงานถึงความสำเร็จในด้วยวิธีนี้ คือ หญ้าที่ทำการย้ายปลูกสามารถที่จะแตกใบใหม่ และมีการแพร่ขยายของส่วน rhizome ตลอดจนการออกดอก
      - การขุดหญ้าทะเลและตะกอนดินจากแหล่งเดิมใส่ลงภาชนะ เพื่อนำไปปลูกในแหล่งใหม่ โดยมากวัสดุที่ใช้จะมีรูปเป็นทรงกระบอก เช่น ท่อพีวีซี เป็นต้น
      - การใช้ต้นเดี่ยวๆ ของหญ้าทะเลปลูกลงในกระป๋องแล้วนำไปปลูกในแหล่งใหม่ 
1.2 วิธีการที่มีวัสดุช่วยในการยึดหน้าดิน
      - วิธีการย้ายปลูกโดยการนำเอาต้นหญ้าทะเลเดี่ยวๆ มาผูกเข้ากับท่อ เว้นระยะห่าง เท่าๆ กันแล้วนำไปปลูกในแหล่งใหม่
      - วิธีการย้ายปลูกโดยใช้ก้อนอิฐแทนสมอ
      - การนำเอาหญ้าทะเลผูกติดกับลวดตาข่ายแล้วนำไปปลูกในแหล่งใหม่
      - การใช้หญ้าทะเลแต่ละต้นผูกติดกับตะปูแล้วนำไปปลูก แต่ปัญหาในการย้ายปลูก โดยใช้ตะปู คือ rhizome จะหยั่งลงไปในดินได้ไม่ลึกนักและสามารถถอนขึ้นได้ง่าย
      - การใช้ต้นอ่อนผูกติดกับสมอพลาสติกแล้วนำไปปลูก 
อย่างไรก็ตาม การย้ายปลูกหญ้าทะเลควรจารณาประเด็นที่สำคัญ เช่น
      - หญ้าทะเลแต่ละชนิดมีการแพร่กระจายตามความลึกของระดับน้ำทะเลไม่เท่ากัน
      - หญ้าทะเลแต่ละชนิดชอบลักษณะพื้นดินตะกอนแตกต่างกัน อย่างเช่นหญ้าคาทะเลเจริญเติบโตได้ดีบนดินโคลน หญ้าเงาหรือหญ้าอำพันชอบทรายปนโคลนเล้กน้อยมีปนเปลือกหอย
      - แหล่งหญ้าทะเล ส่วนใหญ่พบอยู่ถัดจากป่าชายเลน สันทรายปากแม่น้ำเป็นบริเวณที่เหมาะสม
      - การนำต้นพันธุ์มาจากพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลในอ่าวใกล้เคียงควรคำนึงถึงผลกระทบของแหล่งพันธุ์เดิมด้วย ควรสุ่มขุดต้นพันธุ์ในลักษณะกระจายพื้นที่กว้าง เพื่อการฟื้นตัวแตกต้นใหม่กลับคืนสภาพสมบูรณ์ได้รวดเร็ว
      - การย้ายปลูกหญ้าทะเลในพื้นที่ทะเลเปิด อาจถูกทำลายได้ง่าย เมื่อพบกับกระแสน้ำหรือคลื่นลมแรง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลประสบความสำเร็จ เช่นการความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  การสร้างชุมชนให้เข็มแข็งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าทะเลกับผู้นำท้องถิ่น การสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาครัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน การควบคุมการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายแหล่งหญ้าทะเล เช่น อวนลาก อวนรุน อวนทับตลิ่งขนาดใหญ่ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ให้มีความเชื่อมโยงทุกระบบนิเวศทางทะเล โดยหลักการที่ถูกต้อง ควรปล่อยให้หญ้าทะเลฟื้นตัวตามธรรมชาติ เพราะระบบนิเวศหญ้าทะเลสามารถฟื้นตัวได้เร็ว (ประมาณ 3-6 เดือน ถ้าหญ้าทะเลยังมีระบบรากฝังอยู่ใต้ดิน) และใช้แนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยลดภัยคุกคามที่มีผลทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ส่วนการย้ายปลูกหญ้าทะเล สามารถทำได้ในพื้นที่ขนาดเล็ก มีความเหมาะสมเท่านั้น
การย้ายปลูกหญ้าทะเล
2. การเพาะเลี้ยงหญ้าทะเล
การเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลสามารถทำได้โดยการเก็บเมล็ดของหญ้าทะเลมาเพาะให้เจริญเติบโตพอสมควรและมีรากที่สมบูรณ์ แล้วจึงนำไปปลูกในที่ที่เหมาะสม โดยให้ต้นกล้าของหญ้าทะเลติดกับวัสดุประเภทใยปอหรือตะแกรง ที่สามารถย่อยสลายได้ภายหลังและไม่เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งพบว่าหญ้าทะเลมีการเติบโตได้ดี แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงปริมาณของเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเลว่ามีมากน้อยเพียงใดในธรรมชาติและควรให้เมล็ดพันธุ์หญ้าทะเลมีการเจริญแพร่พันธุ์ในแหล่งเดิมตามธรรมชาติด้วย (สมบัติและคณะ, 2549)
จากการศึกษาของ ภูเบศ (2554) ที่ศึกษาการศึกษาอัตราการงอกของหญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) จากการเพาะเมล็ดในตู้ทดลองและการย้ายปลูกคืนสู่ธรรมชาติ พบว่าอัตราการงอกของเมล็ดหญ้าทะเลและการอนุบาลต้นอ่อนของหญ้าทะเลในตู้อนุบาลมีอัตรารอดเป็น 100% แสดงให้เห็นว่า เมล็ดของหญ้าคาทะเลมีอัตรางอกที่สูงมาก เนื่องจากมีเมล็ดสะสมอาหารขนาดใหญ่ ส่วนการย้ายปลูกจากตู้อนุบาลลงพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติในพื้นที่อ่าวป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พบว่าในเดือนแรกการรอด 82.66% ในเดือนที่สองอัตรารอด 75.28% และเดือนสุดท้ายอัตรารอด 70.14% อัตราการตายสูงที่เกิดขึ้นอาจเกิดเนื่องจากต้นกล้ามีขนาดเล็ก มีการเกาะของสาหร่ายทะเลตามใบและลำต้นของหญ้าทะเล รวมทั้งการทับถมของตะกอนดินในพื้นที่ทดลองปลูก
การเพาะหญ้าคาทะเล : เมล็ดหญ้าคาทะเล และการเพาะหญ้าทะเลในบ่อทดลอง 
ในประเทศไทย พบว่ามีหญ้าทะเลเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์มากในบ่อดินที่ใช้เป็นบ่อพัก น้ำทะเล หรือในบ่อดินที่เป็นบ่อกุ้งหรือสัตว์น้ำอื่น เช่น พบหญ้าเงาในบ่อพักน้ำทะเล บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี หรือบ่อดินพักน้ำทะเลของสถานีพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดตรัง พบหญ้าอย่างน้อย 3 ชนิด คือ หญ้าเงา หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย และหญ้ากุยช่ายเข็ม พบหญ้าตะกานน้ำเค็มที่บางขุนเทียน กรงเทพฯ และที่บางกระซ้าขาวและบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรสาคร สำหรับศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำเพชรบุรีก็พบหญ้าตะกานน้ำเค็มด้วยเช่นกัน
หญ้าทะเลที่เจริญเติบโตในบ่อพักน้ำทะเลและบ่อเลี้ยงกุ้งรวมทั้งบ่อบำบัดน้ำทะเลจากการเพาะเลี้ยงนี้ สามารถนำไปปลูกเพิ่มเติมในแหล่งธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมได้หรือไม่นั้น ยังต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้เพราะในทะเลมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคมากมายในเรื่องพื้นที่ที่เหมาะสมและกระแสน้ำ รวมถึงความคุ้มทุนของเงินและแรงงานด้วย ซึ่งจะเปรียบเทียบกับการรักษาแหล่งหญ้าทะเลนั้นต้องถูกแก้ไขให้หมดสิ้นไปก่อนที่จะทำการฟื้นฟู ส่วนในบ่อพักน้ำนั้น หญ้าทะเลมีประโยชน์ในการช่วยดูดซึมสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำทะเลซึ่งน่าจะส่งผลดีช่วยทำให้น้ำทะเลมีคุณภาพดีขึ้นและเหมาะกับการนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน อีกทั้งน่าจะมีการทดลองเลี้ยงสัตว์น้ำบางชนิดในบ่อที่มีหญ้าทะเล จะเป็นที่หลบภัยและแหล่งอาหารที่ดีให้กับสัตว์น้ำเหล่านี้
ที่มา : http://marinegiscenter.dmcr.go.th/km/seagrass_doc09/#.U-TGd-N_vfJ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น