วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฝายชะลอน้ำ


จากทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break) หนึ่งในการวิธีการดังกล่าวคือการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า Check Dam เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ ให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองฝั่งน้ำ กลายเป็นป่าเปียก

ตามข้อมูลแล้วฝายชะลอน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ฝายชะลอน้ำแบบท้องถิ่น (หรือฝายแม้ว ที่ทำโดยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น กิ่งไม้ ไม้ล้ม หรือก้อนหินชนิดต่างๆ มาวางเรียงซ้อนกัน) ฝายชะลอน้ำแบบเรียงด้วยหิน (ฝายกึ่งถาวร) และฝายชะน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (ฝายแบบถาวร)

จากกระแสดังกล่าวได้มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดทำโครงการในการสร้างฝายชะลอน้ำหลายพันฝาย โดยมีวัตถุประสงค์คือ
๑) เพื่อชะลอการไหล ลดความรุนแรงของกระแสน้ำและลดการชะล้างพังทลายของตลิ่ง
๒) ช่วยให้น้ำอยู่ในลำห้วยนานขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง
๓) ช่วยดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำลดการตื้นเขินที่ปลายน้ำ ทำให้น้ำใสและมีคุณภาพดีขึ้น
๔) ช่วยให้ดินชุ่มชื้น ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ให้สัตว์น้ำและสัตว์ป่า ได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต
๕) คืนสังคมพืชให้แก่เนินเขา/ภูเขาหัวโล้น ๖) เมื่อดินชื้น ป่าก็ชื้น กลายเป็นแนวกันไฟลดความรุนแรงของไฟป่าได้

          จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีงานการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนข้อดีของการสร้างฝายชะลอน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทางเคมี มีงานวิจัยที่แสดงข้อมูลอีกด้านหนึ่งของฝายชะลอน้ำ เช่น งานวิจัยที่รายงานว่า ระดับน้ำที่สูงขึ้นหลังจากการสร้างฝายชะลอน้ำซึ่งทำให้น้ำไหลช้าลง จะส่งผลต่างๆ ดังนี้
 ๑) อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเนื่องจากน้ำที่ไหลช้าลงจะมีการหมุนเวียนมวลน้ำไปสัมผัสกับอากาศน้อยลงส่งผลให้การระเหยของน้ำลดลง มีการสะสมความร้อนที่ผิวน้ำมากขึ้น
๒) การหมุนเวียนน้ำไปสัมผัสกับอากาศที่น้อยลงยังทำให้ออกซิเจนที่ละลายในน้ำน้อยลงด้วย
๓) ตะกอนที่สะสมอยู่ท้ายฝายจะเปลี่ยนแปลงทำให้สภาพพื้นท้องน้ำเปลี่ยนไป คือ จากที่ควรจะเป็นกรวด หินและทราย ก็จะเปลี่ยนเป็นตะกอนดินและโคลนแทน ทำให้สังคมของสัตว์ที่อยู่ตามหน้าดินเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบไปถึงห่วงโซ่อาหาร 
๔) ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะแผ่ออกจากลำน้ำเดิมซึ่งจะไปท่วมรากพืชที่อยู่ริมฝั่งน้ำทำให้รากขาดก๊าซออกซิเจนและเน่าตาย เมื่อตลิ่งขาดพืชที่จะเป็นตัวยึดก็จะทำให้เกิดการพังทลายได้ง่ายขึ้น
๕) สังคมของพืชน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากกระแสน้ำไหลช้าลง โดยผลกระทบนั้นจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของฝายชะลอน้ำ เช่น ความสูง ชนิด รูปร่าง เป็นต้น 

ดังนั้น เพื่อการสร้างฝายชะลอน้ำให้ได้ผลดีที่สุดต่อทุกฝ่ายและเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระบบนิเวศเดิมและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นให้น้อยที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถเลือกชนิดหรือรูปแบบฝาย รวมทั้งวิธีการสร้างฝายที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่และปัจจัยต่างๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตและปัจจัยทางกายภาพในบริเวณนั้น และทำให้ฝายชะลอน้ำที่สร้างขึ้นเกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด


ที่มา http://www.thajaosanook.go.th/THEKING/page3.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น