วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557


การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ 


      การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ประการแรกต้องเริ่มจากตัวเราในการอนุรักษ์ ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อำนวยความสะดวกทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศให้อยู่ในสภาพปกติ รักษาต้นน้ำลำธารพรรณพฤกษชาติและสัตว์ป่าอีกทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ได้บริโภคใช้สอย ประกอบอาชีพด้านการทำป่าไม้ เก็บของป่าด้านอุสาหกรรม การผลิตไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบจากไม้และของป่าแต่สภาพปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ลักลอบตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมและเผาถ่านอีกทั้งยังมีการก่อสร้างถนนสร้างเขื่อนทำให้มีการตัดไม้โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้จึงมีเนื้อที่ลดลงตามลำดับ และบางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม

วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้


การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้มีหลายวิธี ดังต่อไปนี้ คือ
1. จำแนกประเภทของประโยชน์จากเนื้อที่ป่าไม้ ให้ชัดว่าเนื้อที่ป่าใดควรจะใช้ประโยชน์ เพื่อจัดเป็นป่าประเภทใด เป็นการป้องกันภัย หรือป่าสาธารณะประโยชน์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าต้นน้ำลำธาร เป็นป่าผลิตผลทางไม้ หรือเพื่อประโยชน์ทางอ้อมอื่นๆ ก็ให้รีบดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้นๆ
2. วางมาตรการอย่าง เข้มงวด ต่อการรักษาป่าถาวร เจ้าหน้าที่ป่าต้องหมั่นออกตรวจตราปราบปราม เพื่อป้องกันการบุกรุกแผ้วถางป่า และการทำไม้เถื่อน
3. เร่งประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าในพื้นที่ดำเนินการสำรวจเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรปล่อยให้เนิ่นนานออกไป จะทำให้ยากแก่การควบคุม เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล
4. ดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติที่ล้าสมัย บทลงโทษที่เบาเกินไป ควรจะเพิ่มให้หนัก ให้เหมาะสมกับภาวะของบ้านเมือง
5. เกี่ยวกับกรณีชาวเขาที่อาศัยอยู่ตามภูเขาสูง ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร ควรดำเนินการอพยพ ลงมาสู่ที่ราบ เพื่อป้องกันการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร และป้องกันการแร่กระจายของเชื้อโรค ควรกำหนดบริเวณให้ชาวเขาอาศัยเป็นแหล่งทำมาหากิน ควบคุมไม่ให้มีการทำไร่เลื่อนลอย
6. รีบเร่งปลูกสร้างสวนป่า ในพื้นที่ที่ถูกทำลาย หรือ เป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อให้ได้ผลผลิตไว้ใช้ในอนาคต ช่วยป้องกันการพังทลาย และการสูญเสียหน้าดิน
7. ควรทำนุบำรุงป่าธรรมชาติ ที่ยังมีสภาพดี ให้เป็นป่าไม้ที่ดี มีค่ายิ่งขึ้นโดยการปลูกต้นไม้ที่มีค่าแซมระหว่างในที่ว่าง การรักษาป่าธรรมชาติ ช่วยป้องกันธรรมชาติไม่ให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมากและไม่ทำให้สูญเสียระบบนิเวศอีกด้วย การป้องกันรักษาป่าธรรมชาติ จึงดีกว่าการปลูกป่าขึ้นใหม่หลังจากตัดไม้หมดแล้ว
8. ชะลอการเปิดป่าให้ช้าลงไป โดยการหาวิธีการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการของพลเมือง โดยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่นการใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ดิน
9. ส่งเสริม และเผยแพร่การวางแผนครอบครัวแก่ราษฎร เพื่อลดอัตราการเพิ่มของพลเมือง ซึ่งช่วยลดปัญหาการไม่มีที่ทำกิน จะได้ไม่บุกรุกป่า
10. ปฏิรูปที่ดินอย่างมีประสิทธิ์ภาพ โดยคำนึงถึงฐานะ อาชีพ กิจการ ขนาดของครอบครัวราษฎร ในการครอบครองที่ดิน

การอนุรักษ์สัตว์ป่า 


สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทำให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ แต่ถ้าหากสัตว์ป่า ชนิดใดสูญพันธุ์ไปแล้ว จะไม่สามารถสร้างพันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดนั้นขึ้นมาได้อีก
การอนุรักษ์สัตว์ป่าจึงควรมีหลักดังนี้
1. การใช้กฎหมายควบคุม เป็นการอนุรักษ์สัตว์ป่าทางตรงมีการป้องกันและปราบปราม ผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอยู่เสมอ 
2. การสงวนแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หมายถึง การป้องกันรักษาป่าไม้ที่จัดเป็นเขต รักษาพันธ์ุสัตว์ป่า เขตป่าในอุทยานแห่งชาติ เขตวนอุทยานต้องมีการป้องกัน บำรุง รักษา และการปลูกพันธุ์ไม้ขึ้นมาใหม่ การสงวนทุ่งหญ้า การทำถ้ำ รู โพรง รักษาโป่ง หรือที่ดินเค็มให้อยู่ในสภาพถาวร เช่น การนำเกลือไปไว้ในเขตดินโป่งบนเขาใหญ่ ให้ช้างและสัตว์ทั้งหลายได้มากิน เป็นต้น
3. การเพาะ พันธุ์เพิ่ม เช่น ตามสวนสัตว์ ต่าง ๆ เขตรักษา พันธุ์สัตว์ หลายแห่ง เลี้ยงสัตว์ บางชนิด ไว้ใน กรงเพื่อ เพาะพันธุ์เพิ่ม เมื่อมีมาก แออัด จึงนำ สัตว์บางชนิด ไปปล่อย ไว้ใน ป่าเปิด ของอุทยาน แห่งชาติ เช่น สัตว์ที่ มีมาก จากสวนสัตว์ ดุสิต เจ้าหน้าที่ ได้นำ ไปปล่อย ไว้ที่ อุทยาน แห่งชาติ เขาเขียว เขาชมพู่ เป็นต้น
4. การค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของการจัดการสัตว์ป่า ให้มีจำนวน เพิ่มขึ้นในระดับที่พอเหมาะกับอาหารและที่หลบภัย ในท้องที่นั้น ๆ
5. การใช้ประโยชน์จากสัตว์ตรงตามหลักการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยไม่เก็บทรัพยากร ไว้เฉย ๆ เท่านั้น ยังต้องรู้จักนำทรัพยากรนั้น ๆ มาใช้ ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เช่น จัดสถานที่ชมสัตว์ป่า จัดสวนสัตว์ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแก่มนุษย์ ให้ความรู้ตามสมควร ถ้ามีจำนวนสัตว์บางชนิดมากเกินไป ก็ควรเปิดให้มีการล่าสัตว์นั้น ๆ ตามหลักของสมดุลธรรมชาติ
ที่มา : http://my.dek-d.com/flookblog/blog/?blog_id=10124096

ทรัพยากรแหล่งน้ำ


โลกของเราประกอบขึ้นด้วยพื้นดินและพื้นน้ำ โดยส่วนที่เป็นฝืนน้ำนั้น มีอยู่ประมาณ 3 ส่วน และเป็นพื้นดิน 1 ส่วน น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งกับชีวิตของพืชและสัตว์บนโลกรวมทั้งมนุษย์เราด้วย  น้ำเป็นทรัพยากรที่สามารถเกิดหมุนเวียนได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดสิ้น เกิดขึ้นเป็น วัฏจักรหมุนเวียนต่อเนื่องกันตลอดเวลา เรียกว่า วัฏจักรของน้ำ ทำให้มีน้ำเกิดขึ้นบนผิวโลกอยู่สม่ำเสมอ

การอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ
          1. ให้มีการศึกษาวางแผนการจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำ โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการรองรับการใช้น้ำระยะยาว ซึ่งการวางแผนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านสังคมและสภาพแวดล้อมต้องมีการกำหนดนโยบายและแผนการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
          2. กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ โดยให้มีการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ของการใช้ทรัพยากรน้ำในระยะยาว รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
          3. ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้และดูแลรักษาป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธาร รวมถึงการควบคุมอย่างเข้มงวดและการมีบทลงโทษอย่างรุนแรงต่อการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร
          4. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมถึงการระมัดมะวังมิให้ นำพื้นที่ชลประทาน แหล่งน้ำธรรมชาติ ระบบชลประทานมาใช้เพื่อประโยชน์อื่น
          5. เสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีวินัยในการใช้น้ำอย่างถูกต้อง รวมทั้งการอนุรักษ์น้ำอย่างถูกวิธี ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำ


วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฝายชะลอน้ำ


จากทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break) หนึ่งในการวิธีการดังกล่าวคือการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า Check Dam เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ ให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองฝั่งน้ำ กลายเป็นป่าเปียก

ตามข้อมูลแล้วฝายชะลอน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ฝายชะลอน้ำแบบท้องถิ่น (หรือฝายแม้ว ที่ทำโดยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น กิ่งไม้ ไม้ล้ม หรือก้อนหินชนิดต่างๆ มาวางเรียงซ้อนกัน) ฝายชะลอน้ำแบบเรียงด้วยหิน (ฝายกึ่งถาวร) และฝายชะน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (ฝายแบบถาวร)

จากกระแสดังกล่าวได้มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดทำโครงการในการสร้างฝายชะลอน้ำหลายพันฝาย โดยมีวัตถุประสงค์คือ
๑) เพื่อชะลอการไหล ลดความรุนแรงของกระแสน้ำและลดการชะล้างพังทลายของตลิ่ง
๒) ช่วยให้น้ำอยู่ในลำห้วยนานขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง
๓) ช่วยดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำลดการตื้นเขินที่ปลายน้ำ ทำให้น้ำใสและมีคุณภาพดีขึ้น
๔) ช่วยให้ดินชุ่มชื้น ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ให้สัตว์น้ำและสัตว์ป่า ได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต
๕) คืนสังคมพืชให้แก่เนินเขา/ภูเขาหัวโล้น ๖) เมื่อดินชื้น ป่าก็ชื้น กลายเป็นแนวกันไฟลดความรุนแรงของไฟป่าได้

          จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีงานการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนข้อดีของการสร้างฝายชะลอน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทางเคมี มีงานวิจัยที่แสดงข้อมูลอีกด้านหนึ่งของฝายชะลอน้ำ เช่น งานวิจัยที่รายงานว่า ระดับน้ำที่สูงขึ้นหลังจากการสร้างฝายชะลอน้ำซึ่งทำให้น้ำไหลช้าลง จะส่งผลต่างๆ ดังนี้
 ๑) อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเนื่องจากน้ำที่ไหลช้าลงจะมีการหมุนเวียนมวลน้ำไปสัมผัสกับอากาศน้อยลงส่งผลให้การระเหยของน้ำลดลง มีการสะสมความร้อนที่ผิวน้ำมากขึ้น
๒) การหมุนเวียนน้ำไปสัมผัสกับอากาศที่น้อยลงยังทำให้ออกซิเจนที่ละลายในน้ำน้อยลงด้วย
๓) ตะกอนที่สะสมอยู่ท้ายฝายจะเปลี่ยนแปลงทำให้สภาพพื้นท้องน้ำเปลี่ยนไป คือ จากที่ควรจะเป็นกรวด หินและทราย ก็จะเปลี่ยนเป็นตะกอนดินและโคลนแทน ทำให้สังคมของสัตว์ที่อยู่ตามหน้าดินเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบไปถึงห่วงโซ่อาหาร 
๔) ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะแผ่ออกจากลำน้ำเดิมซึ่งจะไปท่วมรากพืชที่อยู่ริมฝั่งน้ำทำให้รากขาดก๊าซออกซิเจนและเน่าตาย เมื่อตลิ่งขาดพืชที่จะเป็นตัวยึดก็จะทำให้เกิดการพังทลายได้ง่ายขึ้น
๕) สังคมของพืชน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากกระแสน้ำไหลช้าลง โดยผลกระทบนั้นจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของฝายชะลอน้ำ เช่น ความสูง ชนิด รูปร่าง เป็นต้น 

ดังนั้น เพื่อการสร้างฝายชะลอน้ำให้ได้ผลดีที่สุดต่อทุกฝ่ายและเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระบบนิเวศเดิมและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นให้น้อยที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถเลือกชนิดหรือรูปแบบฝาย รวมทั้งวิธีการสร้างฝายที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่และปัจจัยต่างๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตและปัจจัยทางกายภาพในบริเวณนั้น และทำให้ฝายชะลอน้ำที่สร้างขึ้นเกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด


ที่มา http://www.thajaosanook.go.th/THEKING/page3.html